งานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า Buddha's 2600 years of enlightenment

Logo



Saturday, May 26, 2012

หนังประวัติพระพุทธเจ้าเรื่องแรกของโลก

 หนังประวัติพระพุทธเจ้าเรื่องแรกของโลกฉายอย่างสมบูรณ์พร้อมการแสดงดนตรีสด เปิดเทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติกรุงเทพ 2555
          มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ร่วมกับสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ กระทรวงวัฒนธรรม กรุงเทพมหานคร บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย และหอภาพยนตร์ (องค์การมหาชน) จัดงาน “เทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติกรุงเทพ 2555” (International Buddhist Film Festival 2012 Bangkok) ครั้งแรกในประเทศไทย โดยในงานนี้เป็นการร่วมมือกับองค์กรภาพยนตร์พุทธศาสนาระดับนานาชาติ International Buddhist Film Foundation (IBFF) คัดสรรภาพยนตร์ กว่า 30 เรื่องจากทั่วโลก
          ในโอกาสนี้ ได้มีการจัดฉายภาพยนตร์ เรื่อง “The Light of Asia” ซึ่งเป็นภาพยนตร์แสดงพุทธประวัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเรื่องแรกของโลก เป็นภาพยนตร์เปิดของเทศกาลฯ ภาพยนตร์เรื่องนี้เป็นภาพยนตร์เงียบ ได้จัดฉายพร้อมกับการแสดงดนตรีสดที่แต่งขึ้นใหม่โดยนักดนตรีทั้งไทยและนานาชาติ เพื่อร่วมสร้างสรรค์และปลุกพลังของผลงานชิ้นสำคัญให้ปรากฏโฉมในรูปแบบที่สง่างามและร่วมสมัย
          คณะนักดนตรีรับเชิญนำทีมโดย “อานันท์ นาคคง” และวงกอไผ่  ร่วมด้วย อุสตาซ วาซี อาห์เม็ด ข่าน (U.Vasi Ahmed Khan) นักดนตรีจากประเทศอินเดีย แรนดอล์ฟ อาร์ริโอลา (Randolf Arriola) นักดนตรีจากประเทศสิงคโปร์ นอกจากนี้ยังมีนักดนตรีจากสหรัฐอเมริกา แกรี่ ฮอลล์ (Gary Hall)
          “เทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติกรุงเทพ 2555” จะจัดขึ้นระหว่างวันที่  7 – 10 มิถุนายน 2555 ที่โรงภาพยนตร์ เอส เอฟ เวิลด์ ซีเนม่า ชั้น 7 ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
“เทศกาลภาพยนตร์พุทธปัญญานานาชาติกรุงเทพ 2555” เป็นส่วนหนึ่งของ “เทศกาลพุทธลีลากรุงเทพฯ 2555” จัดขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองวาระครบ 2,600 ปี แห่งการตรัสรู้ธรรมขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งจะครบรอบในวัน   วิสาขบูชาที่จะถึงนี้

พิธีแถลงข่าวการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี

พิธีแถลงข่าวการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
          เมื่อวันที่ ๑๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕ เวลา ๑๔.๐๐ น. ได้มีพิธีแถลงข่าวการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล จากนั้น นายนพรัตน์ เบญจวัฒนานันท์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวรายงานและวัตถุประสงค์ของการจัดงาน ต่อมา แขกผู้มีเกียรติรับชมวีดิทัศน์ “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า” จากนั้น เป็นการแถลงข่าวและชี้แจงรายละเอียดการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยมีผู้ร่วมแถลงข่าว ดังนี้
          ๑. พระธรรมโกศาจารย์ กรรมการมหาเถรสมาคม อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
          ๒. นายยงยุทธ วิชัยดิษฐ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย
          ๓. นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาลรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
          ต่อมา เป็นการแสดงชุด “พุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี พระผู้มีพระภาคเจ้า” เป็นอันเสร็จพิธี และในการนี้ คณะผู้บริหาร ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ของสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ เข้าร่วมในพิธีแถลงข่าวดังกล่าว
ที่มา: กองพุทธสารนิเทศ สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ / ข่าว

กำหนดการงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๕๕ ฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า

 กำหนดการงานสัปดาห์เผยแผ่พระพุทธศาสนา เนื่องในเทศกาลวันวิสาขบูชาโลก ประจำปี ๒๕๕๕ ฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปีแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า(๒๓ พฤษภาคม ๒๕๕๕)

Friday, May 25, 2012

พุทธประวัติ



พุทธประวัติ


ธงสัญลักษณ์


 ความหมายธงสัญลักษณ์งานพุทธชยันตี
ใบโพธิ์
หมายถึง การตรัสรู้สัจธรรมความจริงของพระพุทธเจ้า
ธรรมจักรกลางผืนธงมี ๑๒ ซี่
หมายถึง หลักธรรมคำสั่งสอนครั้งแรกของพระพุทธเจ้าประกอบด้วยอริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ และ มรรค
มีการหมุนวน ๓ รอบ
(รอบที่ ๑ - สัจญาณ) ซึ่งควรทำความรู้ความเข้าใจ
(รอบที่ ๒ - กิจญาณ) แล้วลงมือปฏิบัติ
(รอบที่ ๓ - กตญาณ) เพื่อการได้รับผลแห่งการปฏิบัติ
รวมเป็นอาการ ๑๒
ผืนธงฉัพพรรณรังสีรองธรรมจักร
หมายถึง แถบสี ๖ สี แห่งพระพุทธองค์ที่ปรากฏขึ้นเมื่อทรงตรัสรู้แล้ว ประกอบด้วยสีขาว เหลือง แดง เขียว ชมพู และ เลื่อมพราย
สีเขียวแห่งใบโพธิ์
หมายถึง ความเจริญงอกงามไพบูลย์แห่งพระธรรมคำสอน
กนกลายไทยชูช่อฟ้า
หมายถึง ผืนแผ่นดินไทยที่รุ่งเรืองด้วยอารยธรรมโดยชนชาติไทยที่ได้น้อมรับ ปฏิบัติ เผยแผ่และเชิดชูพระธรรมคำสอนของพระพุทธเจ้า อำนวยประโยชน์แก่มวลมนุษยชาติอยู่คู่ผืนแผ่นดินไทยชั่วกัลปาวสาน

ความเป็นมา


 พุทธชยันตี
มหาธัมมาภิสมัย ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ รัฐบาลไทย ได้ประกาศให้เป็นปีแห่งการเฉลิมฉลองพุทธชยันตี อย่างยิ่งใหญ่ตลอดทั้งปี โดยเน้นหนักในด้านการปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมของประชาชน ตั้งแต่ระดับครอบครัว ไปจนถึงระดับชาติ ให้ประชาชนได้ปฏิบัติตนตามวิถีชาวพุทธอย่างแท้จริง อันจะทำให้เกิดความมั่นคง แห่งสถาบันชาติ พระศาสนา พระมหากษัตริย์ อย่างยั่งยืน
การฉลองพุทธชยันตี เป็นเทศกาลสำคัญทางพระพุทธศาสนาที่มีความเกี่ยวเนื่องกับวันวิสาขบูชา ใช้เรียกการจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญของพระพุทธเจ้า เช่น ฉลองครบรอบ ๒,๕๐๐ ปี แห่งการปรินิพพาน หรือ ฉลองครบรอบ ๒,๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ โดยอาจใช้ชื่อต่างกันไปบ้าง ในแต่ละประเทศ เช่น ศรีสัมพุทธชยันตี สัมพุทธชยันตี แต่ทั้งหมด ก็คือ การจัดกิจกรรมในปีที่ครบรอบวาระสำคัญขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
เมื่อวาระสำคัญเวียนมาบรรจบอีกศตวรรษหนึ่ง ประเทศที่นับถือพระพุทธศาสนา จึงจัดฉลองกันโดยทั่วไป เรียกว่าฉลอง "พุทธชยันตี" เช่น ที่เคยฉลองครบรอบ ๒๕ พุทธศตวรรษ หรือ พ.ศ. ๒๕๐๐ มาแล้ว ในครั้งนั้น กำหนดนับวันที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เสด็จดับขันธปรินิพพาน หรือ พ.ศ. ๑ เป็นวันแห่งการฉลองพุทธชยันตี
แต่ครั้งนี้ นับวันที่พระบรมศาสดาตรัสรู้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เวียนมาบรรจบครับรอบ ๒๖ พุทธศตวรรษ ๒๖๐๐ ปี กำหนดให้เป็นวันฉลองพุทธชยันตี
"พุทธชยันตี" หมายถึง ชัยชนะของพระพุทธเจ้า ที่มีต่อหมู่มารและกิเลสทั้งปวงอย่างสิ้นเชิง เพราะพระองค์ ทรงตรัสรู้ในวันวิสาขบูชา เมื่อ ๒๖๐๐ปี ล่วงแล้ว ทำให้พระนามว่า "สัมมาสัมพุทธะ" ปรากฏขึ้นในโลก เป็นจุดเริ่มต้นแห่งคำสอนของพระพุทธศาสนา อันเกิดจากปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ทำให้พุทธศาสนิกชน ได้มีพระธรรมเป็นหลักแห่งการดำเนินชีวิต
วันฉลองที่สำคัญนี้เรียกเป็นสากลว่า Sambuddha Jayanti ๒,๖๐๐ ตรงกับภาษาไทยว่า "สัมพุทธชยันตี ๒,๖๐๐ ปี"
เฉพาะประเทศไทย มหาเถรสมาคม ได้มีมติให้ เรียกงานฉลองนี้ว่า "พุทธชยันตี" ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า
โดยที่ประชุมมหาเถรสมาคม ณ พระตำหนักสมเด็๗ฯ วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร ได้มีมติเห็นชอบให้มีกรดำเนินการจัดงานฉลองพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า โดยให้เรียกชื่อว่า งานฉลอง "พุทธชยันตี" ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ให้เสนอเรื่องไปยังรัฐบาลเป็นเจ้าภาพในการดำเนินการจัดงาน พร้อมทั้งให้มีการตั้งคณะกรรมการอำนวยการ โดยมีมหาเถรสมาคม เป็นที่ปรึกษา มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และให้ของบประมาณในการดำเนินการสนับสนุนจากรัฐบาล
การจัดงานแบ่งเป็น ๓ ลักษณะ คือ
๑.ด้านการปฏิบัติบูชา มุ่งส่งเสริมการปฏิบัติธรรมสำหรับพุทธศาสนิกชนตั้งแต่ระดับครอบครัวและชุมชน โดยใช้สำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ พุทธมณฑล จังหวัดนครปฐม เป็นศูนย์กลางการจัดกิจกรรม
๒.ด้านวิชาการ เน้นการประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพุทธประวัติ หลักธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนา โดยให้มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย ดำเนินการ
๓.ด้านกิจกรรมศิลปวัฒนธรรม มอบให้กระทรวงวัฒนธรรมเป็นหน่วยงานหลัก ในการดำเนินงาน
การจัดกิจการทั้งหมด มุ่งเน้นให้เกิดการศึกษา การเผยแผ่ การปฏิบัติบูชา และการมีส่วนร่วมขององค์กรทุกภาคส่วนของประชาชน พร้อมทั้งประสานการจัดกิจกรรมประชุมสัมมนาทางวิชาการเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาในระดับนานาชาติ เพื่อเป็นเวทีถ่ายทอดความรู้เกี่ยวพระพุทธศาสนาและเปิดโอกาสให้พุทธศาสนิกชนได้เรียนรู้ และเข้าใจหลักธรรมและเรื่องราวในพระพุทธศาสนามากขึ้น ทั้งในประเทศ และนานาชาติ

ความหมายของพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้


 ความหมายของพุทธชยันตี ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้
เป็นชื่อที่กำหนดโดยมหาเถรสมาคม
หมายถึง การเฉลิมฉลองของชาวพุทธ ในวาระครบรอบ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
คำว่า ชยันตี แปลว่า การเฉลิมฉลองชัยชนะ
คำว่า พุทธะ แปลว่า การรู้ ตื่น และ เบิกบาน
คำว่า พุทธชยันตี แปลว่า การเฉลิมฉลองของชาวพุทธ ในชัยชนะของพระพุทธเจ้าที่มีเหนือกิเลสและมารทั้งปวงด้วยพระองค์เองจนบรรลุเป็นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้ ผู้ตื่น และ ผู้เบิกบานด้วยธรรม
พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ขณะพระชนมายุ ๓๕ พรรษา แล้วเมตตาสั่งสอนเผยแผ่จนเสด็จดับขันธปรินิพพานเมื่อมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษาแล้วจึงเริ่มนับ พ.ศ. ๑ บัดนี้ปี พ.ศ. ๒๕๕๕ บวก ๔๕ ปีที่ทรงสั่งสอนเผยแผ่พระพุทธศาสนาหลังตรัสรู้ จึงครบ ๒๖๐๐ ปี แห่งการตรัสรู้ เกิดพระพุทธศาสนา มีพระรัตนตรัยครบองค์ทั้งพระพุทธ พระธรรม และ พระสงฆ์แต่นั้นมาควรที่พุทธศาสนิกชนจะได้น้อมนำแบบอย่างแห่งการตรัสรู้ของพระองค์ มาปฏิบัติบูชาด้วยการเจริญใน ทาน ศีล สมาธิภาวนา และ ปัญญา ตามแบบอย่างและคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อการเอาชนะกิเลสและมารทั้งปวง ทั้งจากภายในตนเองและที่รบกวนจากภายนอกทั้งปวง